วันที่ 21 ต.ค. 2551 เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา พร้อมองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกจำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาทเศษ ที่ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157 ซึ่งท้ายคำฟ้อง อัยการสูงสุด ขอศาลมีคำสั่งให้ยึดที่ดินและเงินที่ซื้อที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย
...ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์ จำกัด ร้อยละ 92 แต่สถานะของบริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์ จำกัด มีเงินกองทุนติดลบอยู่ จำเป็นต้องทำให้เงินกองทุนเป็นบวกเสียก่อนนำออกขาย
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2538 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จึงซื้อที่ดินของบริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์ จำกัด จำนวน 2 แปลง แปลงที่ 1 อยู่ติดศูนย์วัฒนธรรม รวม 18 โฉนด เนื้อที่ 85 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ในราคา 2,749,040,000 บาท (สองพันเจ็ดร้อยสี่สิบเก้าล้านสี่หมื่นบาท) และแปลงที่ 2 อยู่ติดถนนเทียมร่วมมิตร รวม 13 โฉนด เนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 69 ตารางวา ในราคา 2,140,357,500 บาท (สองพันหนึ่งร้อยสี่สิบล้านสามแสนห้าหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาท) ซึ่งทำให้บริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์ จำกัด นำกำไรจากการขายที่ดินไปล้างการขาดทุนสะสมที่มีอยู่ เพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก และจะได้นำหุ้นออกขายต่อไป
ต่อมาประมาณกลางปี 2544 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้ปรับปรุงเกณฑ์บันทึกการบัญชีทรัพย์สินรอการขายใหม่ทั้งหมด เพื่อรับรู้ผลการขาดทุนโดยใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินในขณะนั้น เป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าที่เป็นจริง เป็นผลให้ราคาที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวลดลง โดยที่ดินแปลงที่ 1 มีราคา 1,310,100,000 บาท และแปลงที่ 2 มีราคา ...ล้านห้าแสนบาท
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2546 คณะกรรมการจัดการกองทุนอนุมัติให้นำทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและ พัฒนาระบบสถาบันการเงินออกจำหน่ายโดยประมูลขาย และได้นำที่ดินแปลงที่ 2 ออกประมูลขายทางอินเตอร์เน็ต ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 เวลา 16.00-16.30 น. โดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 870 ล้านบาท หรือราคาประเมินของกรมที่ดิน บวกร้อยละ 15 ผู้ประสงค์จะเข้าประมูลต้องลงทะเบียนและชำระเงินมัดจำการประมูล 10 ล้านบาท ที่บริษัท สามารถอินโฟร์ มีเดีย จำกัด หรือที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระหว่างวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2546 ปรากฏว่ามีผู้ประสงค์จะซื้อที่ดิน 8 ราย ลงทะเบียนและชำระเงินมัดจำการประมูล 3 ราย คือ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทองหล่อ เรสซิเดนท์ จำกัด และบริษัท แสนศิริ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) แต่เมื่อถึงเวลากำหนดเสนอราคา กลับไม่มีผู้ใดเสนอราคาประมูล กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จึงยกเลิกการประมูล แล้วดำเนินการรังวัดที่ดินแปลงที่ 2 ทั้ง 13 โฉนด โดยแบ่งหักส่วนที่เป็นสาธารณประโยชน์ออก กับรวมและแบ่งแยกโฉนดใหม่ เป็น 4 โฉนด คือ โฉนดเลขที่ 2298 , 2299 , 2300 และ 2301 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เหลือเนื้อที่รวม 33 ไร่ 78.9 ตารางวา และประกาศขายที่ดินใหม่อีกครั้ง โดยวิธีประกวดราคา และไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ
กำหนดวันซื้อแบบประกวดราคาระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2546 ระหว่างเวลา 09.00-16.30 น. ผู้เข้าร่วมประกวดราคาต้องวางเงินมัดจำเพื่อการยื่นซองประกวดราคา 100 ล้านบาท ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2546 ก่อนเวลา 12.00 น. กำหนดวันยื่นซองและเปิดซองประกวดราคาวันที่ 16 ธันวาคม 2546 เวลา 11.30 น. ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 4 อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏว่ามีผู้ซื้อแบบ 4 ราย แต่ยื่นซองเสนอราคา 3 ราย คือ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) โดยนายวีระพงษ์ มุทานนท์ ผู้รับมอบอำนาจ เสนอราคา 730 ล้านบาท บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยนายกีรติ คตะสุข ผู้รับมอบอำนาจ เสนอราคา 750 ล้านบาท และจำเลยที่ 2 โดยนายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผู้รับมอบอำนาจ เสนอราคา 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุด
คณะกรรมการจัดการกองทุนได้ประชุมและอนุมัติให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดขายที่ดินดังกล่าวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบ สถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546 และชำระราคาที่ดินครบถ้วนในเวลาต่อมา ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขาย และจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันในวันที่ 30 ธันวาคม 2546 โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว พร้อมมอบหลักฐาน สำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเภทข้าราชการการเมือง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบการทำสัญญาด้วย
หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดอำนาจปกครองจากรัฐบาลที่จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีอำนาจตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
ต่อมา นายวีระ สมความคิด ได้กล่าวโทษจำเลยทั้ง 2 ต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ว่า การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยจำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมดังกล่าว เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 122
ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2550 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ รัฐ กล่าวโทษจำเลยทั้ง 2 ฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดอาญา และวันที่ 26 มกราคม 2550 ได้ยื่นคำร้องกล่าวโทษเพิ่มเติม คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) และเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นหรือไม่
คณะอนุกรรมการไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว เห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอ และได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองมอบอำนาจให้นายพิชิฏ ชื่นบาน ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นหนังสือต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
จำเลยที่ 2 ประมูลซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยเปิดเผย และจำเลยที่ 1 ให้การยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะสามีของจำเลยที่ 2 เป็นการส่วนตัว มิได้กระทำในฐานะนายกรัฐมนตรี กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานในสังกัดของราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนใดๆ ที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีแต่อย่างใด กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่ได้รับความเสียหายจากการขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เพราะมีกำไร และสามารถนำเงินที่ได้ไปลดภาระหนี้สิน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยไม่สมัครใจ
คณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองน่าจะเป็นความผิดอาญา ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จึงเสนอให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบด้วย และส่งสำนวนการตรวจสอบไต่สวนให้อัยการสูงสุดพิจารณา และฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
พิเคราะห์ แล้ว สำหรับปัญหาที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 ข้อ 2 และข้อ 5 กับบทบัญญัติมาตรา 4 มาตรา 100 และมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยวินิจฉัยเกี่ยวกับประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ตามคำวินิจฉัยที่ 5/2551 ว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 มิได้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ไม่ว่าจะเป็นบทมาตราใด
และวินิจฉัยเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 4 มาตรา 100 และมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ตามคำวินิจฉัยที่ 11/2551 ว่า บทบัญญัติมาตรา 4 มาตรา 100 และมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 สอดคล้องกับหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ และหลักธรรมาภิบาล อันเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 39 และมาตรา 43
ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้ได้ในคดีทั้งปวง เป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันศาล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 211 วรรค 3 และมาตรา 216 วรรค 5
องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองต่อไป มีว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ถูกยกเลิกไปโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองโต้แย้งว่า เมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง ในวันที่ 14 กันยายน 2549 มีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 สิ้นสุดลงในวันดังกล่าวด้วย
แม้ต่อมาในวันที่ 22 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป ก็คงมีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เฉพาะกรณีความผิดที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ 22 กันยายน 2549 เป็นต้นไปนั้น
เห็นว่าในการทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศในแต่ละครั้ง นั้น ผู้ทำรัฐประหารมีความประสงค์ที่จะยึดอำนาจอธิปไตยที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งก็คืออำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารมารวมไว้ โดยให้มีผู้ใช้อำนาจดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว หรือคณะบุคคลคณะเดียวเท่านั้น มิได้มีความประสงค์ที่จะล้มล้างระบบกฎหมายของประเทศทั้งระบบแต่อย่างใด แม้แต่อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ก็ยังปรากฏเป็นข้อที่รับรู้กันทั่วไปว่า ตามปกติผู้ทำรัฐประหารยังคงให้อำนาจตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาล ยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่อไปได้ คงยึดอำนาจไว้แต่เฉพาะอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารเท่านั้น
ในการทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เช่นกัน เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้แล้ว คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ
ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 มีใจความสำคัญ ว่า
ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลทั้งหลายนอกจากศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอัตถคดีตามบทกฎหมาย แสดงว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร มารวมไว้ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนอำนาจตุลาการ ยังคงให้ศาลยุติธรรมใช้อำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายต่อไป
แสดงให้เห็นว่า บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่างๆ ซึ่งได้ตราขึ้นและมีผลใช้บังคับอยู่แล้วในขณะที่มีการยึดอำนาจนั้น หาได้ถูกยกเลิกไปด้วยแต่ประการใดไม่
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 คงมีผลให้กฎหมายและคณะบุคคล หรือองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยต่างๆ ยกเว้นศาลยุติธรรม สิ้นสุดลงตามที่ระบุในประกาศข่าวโดยชัดแจ้งเท่านั้น ดังนั้น แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จัดเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 บัญญัติให้ตราขึ้นใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อมีการตราขึ้นใช้บังคับโดยชอบแล้ว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ทั่วไป
กล่าวคือ หากไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว ย่อมมีความสมบูรณ์ และดำรงความเป็นกฎหมายอยู่ในตัวเอง สามารถนำไปใช้บังคับแก่กรณีต่างๆ ได้ โดยหาจำต้องอาศัยความดำรงคงอยู่ของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตราพระราช บัญญัติดังกล่าวไม่
การ สิ้นผล หรือการยกเลิก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จึงต้องใช้หลักเกณฑ์ทั่วไปในการยกเลิกกฎหมาย กล่าวคือ มีการบัญญัติกฎหมายใหม่ขึ้นใช้บังคับแทน หรือมีกฎหมายบัญญัติให้ยกเลิกโดยชัดแจ้งเท่านั้น เมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ได้บัญญัติให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญด้วย
การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จึงไม่มีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ สิ้นผลไปด้วยแต่อย่างใด
ส่วนที่ปรากฏต่อมาว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไปนั้น ก็เป็นเพียงการยืนยันว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ถูกยกเลิกไปเพราะการยึด อำนาจการปกครองแผ่นดินเท่านั้น
องค์ คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ มิได้ถูกยกเลิกไปโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไป มีว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีอำนาจสอบสวนและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 หรือไม่
ในปัญหานี้ จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่ได้รับความเสียหาย การร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ไม่ใช่พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
เห็นว่าก่อนที่จะมีการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองใน ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น การดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยมาตรา 19 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งความเห็น เพื่อส่งไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ส่วนการเริ่มต้นคดีโดยผู้เสียหาย เป็นไปตามมาตรา 66 ที่ให้ผู้เสียหายที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่หลังจากยึดอำนาจปกครองประเทศแล้ว ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งข้อ 5 (2) (3) และ (4) แห่งประกาศดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน และการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งความในวรรค 3 ยังให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และข้อ 9 แห่งประกาศดังกล่าว กำหนดว่า ในกรณีดำเนินการตรวจสอบแล้ว คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีมติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือบุคคลใด กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ ก็ให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ซึ่งได้แก่การยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง
ดัง นั้น สถานะและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่รัฐ ย่อมเป็นไปตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ แม้จะมิใช่พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็สามารถตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ หรือการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดโดยตัวบทกฎหมายดังกล่าวได้
ส่วนการตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีนี้เป็นไปโดยชอบหรือไม่นั้น ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่า เป็นการตรวจสอบในกรณีกล่าวหาจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย กับจำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สมรสของจำเลยที่ 1 ว่าร่วมกันกระทำความผิดด้วยการเข้าเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อขายที่ดินที่ทำกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการ เงิน ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นหน่วยงานรัฐ ที่จำเลยที่ 1 มีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินการ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 100 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเพื่อการป้องปรามการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิให้แสวงหาประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในอำนาจกำกับดูแลของตน อันจะก่อให้เกิดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัตินี้ ย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติตาม หากปฏิบัติฝ่าฝืนก็อาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสีย หายแก่รัฐ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5 (2) (3) และ (4) และยังอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่นตามบทบัญญัติมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และมาตรา 9 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ได้
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการ การบริหารทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ได้เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น และปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ด้วยการให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ในการเสนอราคาประมูลซื้อที่ดิน ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้
การกระทำตามที่กล่าวหาดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบ การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่จะดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (2) และมาตรา 66 ประกอบกับประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5
ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) และเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (2)
ส่วนการกล่าวโทษจำเลยทั้งสองต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้ เกิดความเสียหายแก่รัฐนั้น เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5 วรรคท้าย กำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจพิจารณาเรื่องใดๆ ที่เห็นควรตรวจสอบ เรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูล หรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด ซึ่งในเรื่องนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายวีระ สมความคิด ประกอบสำเนา หนังสือ พร้อมเอกสารแนบท้าย และบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ.109 และ 115 ว่า เรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาทคดีนี้ พยานเคยมีหนังสือกล่าวโทษไปยังเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปราม เพื่อขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง แต่ไม่เป็นผล เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำการยึดอำนาจการปกครอง และแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐแล้ว พยานจึงมีหนังสือกล่าวโทษไปยังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความ เสียหายแก่รัฐ ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ในขั้นต้น ตามที่มีผู้ร้องเรียนมา โดยมีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อทำการตรวจสอบ อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่กำหนดไว้โดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5 วรรคท้ายดังกล่าวแล้ว หาจำต้องให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษเสียก่อนดังที่จำเลยทั้งสองกล่าว อ้างไม่
อย่างไรก็ดี ได้ความจากคำเบิกความของนายนาม ต่อไปว่า เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนทำการตรวจสอบแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จึงแจ้งให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 66 โดยในเบื้องต้นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงการคลัง และต่อมากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้มีหนังสือกล่าวโทษไปยังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสีย หายแก่รัฐ และได้ความจากคำเบิกความของนายไพโรจน์ เฮงสกุล อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ประกอบสำเนาหนังสือ สำเนารายงานการประชุม และบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ.76 จ.78 จ.79 และ จ.120 ว่า หลังจากกระทรวงการคลังได้รับแจ้งจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิด ความเสียหายแก่รัฐแล้ว ได้มีหนังสือถึงกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อพิจารณา คณะกรรมการจัดการกองทุน จึงประชุมและพิจารณาแล้วเห็นว่า การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยฝ่าฝืนข้อห้ามในเรื่องคุณสมบัติของจำเลย ทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) หากเป็นผลทำให้สัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะ และทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้รับความเสียหาย จึงมีมติให้ยื่นคำร้องกล่าวโทษจำเลยทั้งสองต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งพยานในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้ปฏิบัติไปตามมติของคณะกรรมการจัดการกองทุนดังกล่าวแล้ว ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่ได้รับความเสียหาย โดยอ้างนายชาญชัย บุญญฤทธิ์ชัยศรี พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี เป็นพยานสนับสนุนนั้น ได้ความจากนายชาญชัย ว่า เป็นเพียงความเห็นของพยาน โดยอาศัยสมมติฐานที่ว่า มีการขายที่ดินพิพาทโดยเปิดเผย และได้ราคาสูงกว่าราคาประเมิน ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน เพราะการจะรับฟังตามคำอ้างของจำเลยทั้งสองได้ ต้องได้ความว่าสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น แต่กรณีนี้ก็ต้องห้ามในคุณสมบัติของจำเลยทั้งสองในการเป็นคู่สัญญา อาจเป็นผลให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะได้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และต้องมีการคืนทรัพย์สินแก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และมาตรา 172 ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ย่อมได้รับความเสียหาย เพราะต้องนำที่ดินพิพาทออกจำหน่ายใหม่ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนี้เพิ่มขึ้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จึงเป็นผู้เสียหายโดยตรง และมีสิทธิ์ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยทั้งสองต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5
ซึ่ง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ก็ได้ปฏิบัติไปตามตัวบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีอำนาจตรวจสอบและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง กับได้มีการกล่าวโทษและคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่รัฐ ได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำตามฟ้อง โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) และ (2)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี ทั้งการซื้อขายที่ดินพิพาทไม่ใช่เรื่องประโยชน์ส่วนบุคคล ขัดหรือแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวม
ในการวินิจฉัยปัญหานี้เห็นสมควรวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสอง เป็นประเด็นตามลำดับดังนี้
ที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ไม่ได้บัญญัติคำจำกัดความของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ไว้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งได้บัญญัตินิยามของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ไว้ในมาตรา 3 ว่า หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นใดที่ดำเนินกิจการของรัฐตามกฎหมาย และได้รับเงินอุดหนุน หรือเงิน หรือทรัพย์สินลงทุนจากรัฐ ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้การจัดหาสินค้าและ บริการของหน่วยงานของรัฐเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม และมีการแข่งขันกันอย่างเสรี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ ทั้งกำหนดลักษณะความผิดและกลไกในการดำเนินการเอาผิดแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การปราบปรามดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันเป็นเจตนารมณ์สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ต้องการให้การปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ประกอบกับพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวตราขึ้นในปีเดียวกัน และมีสถานะทางกฎหมายเท่าเทียมกัน ดังนั้น คำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 จึงมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน
เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นหน่วยงานในธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 ตรี เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ ในทำนองเดียวกับวัตถุประสงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจัดสรรเงินสำรองส่งสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนที่เห็นว่าเหมาะสมเป็น คราวๆ ไป
องค์ คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นหน่วยงานของรัฐ ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1)
ที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น เห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกัน ปราบปราม การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้แสวงหาประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐที่อยู่ ในอำนาจกำกับดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของตน เพราะการปฏิบัติหน้าที่ หรือวินิจฉัยสั่งการ หรืออำนาจที่ตนมีอยู่เหนือหน่วยงานของรัฐ อาจส่งผลกระทบ หรือมีอิทธิพลต่อการใช้ดุลพินิจ หรือการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในหน่วยงานของรัฐนั้นๆ อันจะก่อให้เกิดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของตนกับผลประโยชน์ของรัฐ หรือก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริต ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้
โดยข้อจำกัดสิทธิ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ ของรัฐทุกตำแหน่ง หากแต่ใช้เฉพาะตำแหน่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ดังกล่าวประกอบประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดห้ามไว้เฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเท่านั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์ให้ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ ของรัฐที่ดำรงตำแหน่งในทางบริหารราชการแผ่นดินระดับสูง โดยมิได้จำกัดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นจะต้องมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีในหน่วยงานของรัฐนั้นๆ โดยตรง
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับรัฐมนตรีอื่นตามบทบัญญัติแห่งรัฐ ธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติในมาตรา 201 และมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็น จะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบาย หรือมติคณะรัฐมนตรี ก็ได้ มีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจบังคับบัญชาราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง ในสังกัดกระทวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการอื่นๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย
ส่วนการจัดระเบียบราชการในกระทรวงต่างๆ มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชา และรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวง ให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา หรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรืออนุมัติ แต่มีข้อจำกัดว่า อำนาจดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 11 กล่าวคือต้องไม่เป็นการขัด หรือแย้ง หรือลดทอนอำนาจที่มีอยู่ของนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ บทบัญญัติมาตรา 217 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ยังกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ ในการให้รัฐมนตรีผู้ใดพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี จึงแสดงให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน ว่ามีขอบเขตอย่างกว้างขวาง มีอำนาจเหนือข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง ในทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทบวงต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการกระทรวง และทบวงนั้นๆ โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลตามลำดับผ่านรัฐมนตรี
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นหน่วยงานในธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 ตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและ เสถียรภาพ ในทำนองเดียวกันกับวัตถุประสงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จึงเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ในสังกัดฝ่ายบริหารเช่นเดียวกัน แม้ตามมาตรา 29 เตรส จะบัญญัติให้การวางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไป เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการกองทุน แต่เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการจัดการกองทุน ตามมาตรา 29 นว ที่ประกอบด้วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง อีกไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน แล้ว เห็นว่าล้วนมีความเกี่ยวข้องและอยู่ในสถานะที่อาจถูกพิจารณาในทางให้คุณให้ โทษโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ทั้งสิ้น
โดยคณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง อาจพ้นจากตำแหน่งได้หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ออก ตามมาตรา 29 เอกาทศ ส่วนปลัดกระทรวงการคลัง เป็นข้าราชการประจำ อยู่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นหน่วยงานสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล เป็นผู้กำกับดูแลกระทรวงการคลัง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ต้องอาศัยรัฐบาลในการสนับสนุนทางด้านการเงิน โดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ
โดยปกตินายกรัฐมนตรีจะไม่เข้าไปสั่งการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงิน โดยลำพัง เว้นแต่มีเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีสามารถให้ความเห็นหรือสั่งการได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานที่เคยทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หลายปาก ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เบิกความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีหนี้จำนวนมาก สมัยรัฐบาลที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกพันธบัตรประมาณ 5 แสนล้านบาท เพื่อหาเงินมาล้างหนี้ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พยานเองก็เคยเสนอรัฐบาลให้ออกพันธบัตรประมาณ 870,000 ล้านบาท เพื่อล้างหนี้ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ด้วยเช่นกัน
ม. ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เบิกความว่า ลักษณะของกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน เพื่อให้สืบความกับกระทรวงการคลัง เงินที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ใช้ในการบริหารจัดการ กระทรวงการคลังต้องออกพันธบัตรประมาณล้านกว่าล้านบาท เพื่อเอาเงินใส่เข้าไปในสถาบันการเงิน เมื่อขายไม่ได้ก็ต้องออกพันธบัตรระยะยาว แล้วตั้งงบประมาณชำระ และอีกส่วนหนึ่งเอากำไรของธนาคารแห่งประเทศไทย มา โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะเข้าไปกำกับดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงิน
นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เบิกความว่า รัฐบาลออกพันธบัตรมาสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงิน
นายไพโรจน์ เฮงสกุล อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เบิกความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทย โครงสร้างการกำกับดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นไปตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน
คณะกรรมการ และคณะกรรมการอื่น เช่น ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง รัฐมนตรีจะขอหรือสั่งการให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ดำเนินการในเรื่องใดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีได้ ภายหลังเกิดวิกฤตปี 2540 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีหนี้มาก หนี้เหล่านี้มาจากการขายพันธบัตรเพื่อเอาเงินมาช่วยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและ พัฒนาระบบสถาบันการเงิน และมีดอกเบี้ยซึ่งเป็นภาระรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่าย
การจัดการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน คณะกรรมการจัดการกองทุนทำได้เอง แต่บางเรื่อง เช่น การเพิ่มทุน หรือลดทุน ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี
นางสว่างจิต จัยวัฒน์ อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เบิกความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขสถาบันการเงินโดยช่วยเหลือผู้ฝากเงิน คือเป็นหลักประกันว่า ในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหา ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนครบถ้วน
และนายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เบิกความว่า ขณะเกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2527 รัฐบาลหรือธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีเครื่องมือช่วยสภาพคล่องสถาบันการเงิน ดังนั้นจึงตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินขึ้นมา โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย การที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จ่ายเงินไปเพื่อช่วยสถาบันการเงินที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง หรือเรื่องความอยู่รอด หรือล้มละลายของสถาบันการเงิน หากสถาบันการเงินมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องและล้มละลาย ก็จะจ่ายเงินให้ไม่ได้ เพราะจะไม่ได้เงินกลับคืน ถ้าไม่ได้กลับคืนมาก็จะต้องหาเงินมาใส่ การเอาเงินมาใส่ก็เอามาจากภาษีอากร คือโยกเงินมาจากรัฐบาลมาใส่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
ฉะนั้น การจะให้สภาพคล่องต่อสถาบันการเงินจึงต้องมีการตัดสินใจโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง
คำ เบิกความของพยานดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า นอกจากนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและ พัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ในทางปฏิบัติของการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เคยใช้อำนาจดังกล่าวกำกับดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการ เงิน โดยผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามลำดับชั้น
องค์ คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีอำนาจในการกำกับ ควบคุมดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อขายที่ดิน จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินกิจการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 100 (1) หรือไม่
เห็นว่ามาตรา 100 บัญญัติไว้ในหมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม บทบัญญัติมาตรา 100 (1) มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นที่รู้กันทั่วไป รวมทั้งจำเลยที่ 1 ว่า สาเหตุที่ต้องมีการก่อตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ก็เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดวิกฤตการเงินของสถาบันการเงินหลายแห่ง มีหนี้ด้อยคุณภาพจำนวนมาก ขาดสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียน หากปล่อยให้ล้มละลายจะทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน เหล่านั้นเกิดความเดือดร้อน ทำให้เศรษฐกิจทั้งประเทศเสียหาย รัฐบาลจึงต้องหาวิธีแก้ไข โดยนำเงินส่วนหนึ่งจากเงินงบประมาณ หรืออนุมัติการออกพันธบัตรเงินกู้ เพื่อให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน นำไปช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วยวิธีต่างๆ เช่น ซื้อทรัพย์สินในราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาดมาก เพื่อให้สถาบันการเงินดังกล่าวสามารถล้างการขาดทุนสะสม มีกำไร ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก สามารถนำหุ้นของสถาบันการเงินนั้นออกขายได้ มีเงินชำระแก่เจ้าหนี้ และสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
กรณีที่ดินตามฟ้อง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้เข้าไปซื้อจากบริษัทเงินทุนเอราวัณ พลัส จำกัด รวม 13 โฉนด หรือเนื้อที่รวม 35 ไร่ 2 งาน 69 ตารางวา ในราคา 2,140,357,500 บาท โดยซื้อพร้อมกับที่ดินอีกแปลงหนึ่ง รวม 18 โฉนด เนื้อที่รวม 85 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ในราคา 2,749,040,000 บาท ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ใกล้ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2538 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดวิกฤตของสถาบันการเงินหลากหลายแห่ง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ต้องใช้เงินจำนวนสูงถึงล้านล้านบาท นำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์จากสถาบันการเงินหลายแห่งในราคาสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อให้สถาบันการเงินเหล่านั้นมีกำไร มีเงินหมุนเวียน ไม่ขาดสภาพคล่อง สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
แต่การที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ รับซื้อมาจากหลายสถาบันการเงินอยู่เป็นจำนวนมาก หากนำออกขายได้ราคามากเท่าใด กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินก็จะลดการขาดทุนลง นั่นย่อมหมายถึงเงินของรัฐก็จะเสียหายน้อยลงเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อปี 2544 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ปรับปรุงเกณฑ์บันทึกการ บัญชีทรัพย์สินรอการขายที่ดินดังกล่าว โดยปรับลดราคาที่ดินแปลง 13 โฉนด ลงเหลือ 754,500,000 บาท เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวสามารถขายได้ นำเงินมาลดการขาดทุน เปิดประมูลครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 โดยกำหนดราคาขั้นต่ำเป็นเงิน 870 ล้านบาท โดยคำนวณจากราคาของกรมที่ดิน และปรับเพิ่มอีกร้อยละ 15 และกำหนดให้ผู้ประสงค์จะเข้าประมูลซื้อที่ดินต้องวางเงินมัดจำการประมูลราย ละ 10 ล้านบาท มีผู้แสดงความประสงค์จะซื้อจำนวน 8 ราย แต่มีผู้ลงทะเบียนชำระเงินมัดจำการประมูลเพียง 3 ราย แต่ถึงวันประมูล ไม่มีผู้เสนอราคาประมูล จึงต้องยกเลิกการประมูล
หลังจากนั้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จึงได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินทั้ง 13 โฉนด ในส่วนที่เป็นสาธารณประโยชน์ออกไปแล้ว รวมแบ่งแยกเป็น 4 โฉนด เหลือเนื้อที่ 33 ไร่ 78.5 ตารางวา และประกาศขายโดยประกวดราคา กำหนดยื่นซองและเปิดซองประกวดราคาในวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ผู้เข้าประกวดราคาต้องวางเงินมัดจำ 100 ล้านบาท
ปรากฏว่ามีผู้ยื่นซองประกวดราคารวม 3 ราย และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อได้ โดยเสนอราคา 772 ล้านบาท สูงกว่าผู้เสนอราคาอีก 2 ราย ที่เสนอราคา 730 ล้านบาท และ 750 ล้านบาท
เห็น ได้ว่า แม้การซื้อทรัพย์โดยวิธีประกวดราคาจะเป็นการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรมและ โดยเปิดเผย แต่ผู้เสนอราคาก็ไม่ต้องการเสนอราคาที่สูง เพราะไม่ต้องการซื้อราคาแพง ขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้ผู้เสนอราคารายอื่นเสนอราคาต่ำกว่าที่ตนเสนอ ขณะนั้นจำเลยที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี มีฐานะมั่งคั่ง มีอำนาจและบารมีทางการเมืองสูง เป็นที่ยอมรับทั้งในคณะรัฐมนตรีที่ร่วมรัฐบาล และประชาชนจำนวนมาก หากพิจารณาในด้านของธรรมาภิบาลแล้ว บุคคลผู้เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงภริยา และบุตร ไม่สมควรที่จะเข้าไปซื้อทรัพย์สินต่างๆ ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพราะการขายทรัพย์สินดังกล่าวได้ราคามากหรือน้อย ย่อมมีผลถึงสถานะทางการเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการ เงิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบอยู่ จำเลยที่ 2 เป็นภริยา และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
นายเกริก วณิกกุล เบิกความว่า ก่อนมีการประมูลขายครั้งที่ 2 นี้ ได้ข่าวว่าภริยานายกรัฐมนตรีจะมาประมูลซื้อที่ดินแปลงนี้เช่นกัน แสดงว่าข่าวจำเลยที่ 2 จะเข้าประมูลซื้อที่ดินตามฟ้อง ได้แพร่กระจายไปก่อนแล้ว และอาจจะกล่าวได้ว่า ค่านิยมของข้าราชการส่วนใหญ่มักจะจำยอมต่อผู้มีอำนาจบารมีเหนือตน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจและบารมีทางการเมืองสูง เช่นจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจให้คุณให้โทษได้ แม้ต่อบุคคลนอกวงราชการก็ตาม
กระบวนการจัดการประกวดราคาครั้งที่ 2 นี้ มีการรังวัดแบ่งแยก กันทางสาธารณประโยชน์ออกไป และรวมเหลือ 4 โฉนด มีการประกาศประกวดราคาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 โดยระบุเลขที่โฉนดที่ดินทั้ง 4 โฉนด ทั้งที่การออกโฉนดทั้ง 4 โฉนด เพิ่งเสร็จเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ทั้งมีการกำหนดวงเงินมัดจำของผู้เข้าประกวดราคาสูงถึง 100 ล้านบาท ไม่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ
การกำหนดเงินมัดจำสูงถึง 100 ล้านบาทเป็นที่เห็นได้ว่า การกำหนดวงเงินมัดจำสูงมากเพียงใด สามารถกีดกันผู้เข้าประมูลให้น้อยลงตามไปด้วย การที่มีผู้เข้าเสนอราคาประมูลเพียง 3 ราย คือ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โนเบิล ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 2 ซึ่งต่างเสนอราคาในราคา 730 ล้านบาท 750 ล้านบาท และ 772 ล้านบาท แต่ก็เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดก็ตาม แต่ก็ยังต่ำกว่าราคาขั้นต่ำ 870 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในการประมูลครั้งแรก
สำหรับผู้เสนอราคาอีก 2 ราย ซึ่งเสนอราคาต่ำจากราคาที่จำเลยที่ 2 เสนอ โดยห่างกันประมาณ 20 ล้านบาท เป็นลำดับ น่าจะไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ แม้คณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จะเห็นว่าราคาที่จำเลยที่ 2 ประมูลได้ ว่าเป็นราคาที่เหมาะสมก็ตาม แต่ยังอาจไม่ใช่ราคาสูงสุดที่ควรจะขายก็ได้
ทั้งนี้พิเคราะห์ถึงว่า ผู้เข้าประมูลซื้อที่ดินแข่งกับจำเลยที่ 2 ทั้ง 2 ราย เป็นบริษัทประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ต่างก็รู้ว่าการนำเสนอราคาประมูลแข่งกับภริยาของนายกรัฐมนตรี น่าเชื่อว่าผู้เข้าประมูลทั้ง 2 ราย ย่อมต้องรู้ว่าไม่สมควรที่จะชนะการประมูลในครั้งนี้ ผลการประมูลจึงออกมาว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด ดังนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่สามารถขายที่ดินตามฟ้องทั้ง 4 แปลง โดยการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่ได้รับประโยชน์จากการขายที่ดินตามฟ้องทั้ง 4 แปลง ได้เท่าที่ควร กรณีจึงเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยชัดแจ้ง
การ ซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ดังกล่าว เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนบุคคล ขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งต้องห้ามมิให้กระทำ ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สมรสของจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงิน ย่อมถือว่าการเข้าทำสัญญานั้นเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เอง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 วรรค 3 ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการลงลายชื่อให้ความยินยอมแทนจำเลยที่ 2 ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท เป็นเพียงการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบบริหารราชการนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยในการที่จำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เพื่อแก้ตัวให้จำเลยที่ 1 พ้นผิด ตามมาตรา 122 วรรค 2 เช่นนี้ องค์ คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 100 (1) ซึ่งต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด
ปัญหานี้เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง มีเพียงการที่จำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ในการร่วมประมูลซื้อ และทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท และจากการไต่สวนพยานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบรายงานสรุปสำนวนการตรวจสอบไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อ ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ได้ความว่า การดำเนินการตั้งแต่ผู้เสนอราคาทำสัญญาจะซื้อจะขาย จนกระทั่งทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีการกระทำการอย่างใดที่แสดงให้เห็นว่าร่วมกระทำการดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 ด้วย
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการดำเนินการในเรื่องนี้มีข้อพิรุธหลายประการ ได้แก่ การปรับลดราคาที่ดินพิพาทลงในช่วงที่จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การไม่กำหนดราคาขั้นต่ำของที่ดินพิพาท ในการประกวดราคา หนังสือชี้ชวนให้ผู้เข้าร่วมประกวดราคามีรายละเอียดไม่ครบถ้วน มีการเพิ่มเงินมัดจำในการยื่นซองประกวดราคาเป็น 100 ล้านบาท และมีการยกเลิกข้อจำกัดในเรื่องความสูงในการก่อสร้างอาคารบริเวณที่ดินที่ ขายแก่จำเลยที่ 2 ทำให้ที่ดินพิพาทมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม ก็เป็นเพียงการส่อถึงข้อพิรุธในการซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่างกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น แต่ไม่พอให้รับฟังว่าเป็นการกระทำ หรือจำเลยที่ 1 มีส่วนกระทำ หรือเกี่ยวข้องในอันที่จะแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่าประสงค์จะมีเจตนาร่วมซื้อที่ดินพิพาทอย่างเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 ลำพังที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอถึงขนาดให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำการในลักษณะเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้
นอกจากนี้ การที่บุคคลใดจะต้องรับโทษทางอาญา ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 39 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรค 1 ซึ่งบัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันว่า บุคคลนั้นได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
สำหรับบทบัญญัติที่เป็นความผิด และบทกำหนดโทษ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 วรรค 3 มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิบางประการของคู่สมรส และมาตรา 122 เป็นบทกำหนดโทษทางอาญาที่จะลงแก่บุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ ซึ่งต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์สำคัญในการห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้โอกาสจากการมีอำนาจใน ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ จากหน่วยงานของรัฐ ที่ตนมีหน้าที่กำกับดูแล หรือควบคุม อันอาจทำให้เกิดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของตนกับผลประโยชน์ของรัฐ โดยเมื่อพิจารณาบทบัญญัติ มาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นบทบัญญัติห้ามเด็ดขาดมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 100 (1) - (4)
โดย บทบัญญัติดังกล่าวให้ถือว่าการกระทำของคู่สมรสเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ของรัฐเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติมาตรา 122 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนมาตรา 100 ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ลงโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฝ่าฝืนมาตรา 100 แต่ไม่ได้ระบุให้ลงโทษรวมไปถึงคู่สมรสด้วย ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติที่กำหนดโทษในมาตราอื่นๆ ที่ใช้คำว่า "ให้ลงโทษแก่ผู้ใดที่ฝ่าฝืน" โดยไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อกำหนดห้ามมิให้คู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ดำเนินกิจการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ก็เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เป็นข้ออ้างใช้เพื่อหลบเลี่ยงได้
วัตถุประสงค์ของข้อกำหนดนี้คงจำกัดเพียงให้ถือว่าการดำเนินกิจการดัง กล่าวของคู่สมรส เป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ในมาตรา 100 วรรค 3 เท่านั้น หาได้ประสงค์จะลงโทษทางอาญาแก่คู่สมรสด้วยไม่
องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิด และไม่ต้องร่วมรับโทษตามมาตรา 122 กับจำเลยที่ 1 ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไป มีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 กับจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่
โดยจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบ สถาบันการเงิน เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 1 มีความผิด เพราะถือว่าการดำเนินกิจการประมูลซื้อขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นคู่สมรสของจำเลยที่ 2 ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงหาใช่เพราะเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 หรือเพราะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามข้อกล่าวหา ลำพังเพียงแต่การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 2 จะรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หาใช่เป็นการกระทำในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ เพราะได้ความจากนายวุฒิสิทธิ์ จันทสูตร เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ว่า แม้คู่สมรสไม่มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอม กรมที่ดินก็ยังสามารถจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อได้ โดยเจ้าหน้าที่จะสอบถามคู่สัญญาว่า จะบันทึกพยานเรื่องโมฆียกรรม และคู่สัญญายินยอมตามนั้น
องค์ คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้าย มีว่า ที่ดินพิพาทและเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระค่าที่ดินพิพาท เป็นทรัพย์สินอันพึงริบหรือไม่
เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ร่วมประมูลราคาและทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และซื้อขายที่ดินพิพาทกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน นั้น หาได้เป็นความผิดในตัวเองไม่ เหตุที่เป็นความผิดสืบเนื่องจากสถานภาพของจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่กฎหมายห้ามมิให้ทำสัญญา หรือมีส่วนได้เสียกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา 100 (1) วรรค 3 และมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
องค์ คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้มาจากการกระทำความผิดแต่อย่าง ใด และมีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 ว่า เงินที่จำเลยที่ 2 ชำระราคาที่ดินพิพาท ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ที่ดินพิพาทและเงินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินอันพึงริบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) และ (2)
เมื่อ พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังที่วินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมาย ไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งที่จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับ ความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ จึงไม่สมควรรอการลงโทษ
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) วรรค 3 และมาตรา 122 วรรค 1 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
นัดฟังคำพิพากษาวันนี้ โจทก์มาศาล ส่วนจำเลยทั้งสองศาลออกหมายจับเกิน 1 เดือนแล้ว แต่ยังจับกุมตัวจำเลยทั้งสองมาไม่ได้ จึงอ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟังฝ่ายเดียว โดยถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำพิพากษาในวันนี้แล้ว เนื่องจากศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปีและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ดังนั้นจึงให้เพิกถอนหมายจับจำเลยทั้งสอง และให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 เพื่อมาบังคับตามคำพิพากษาต่อไป ให้ส่งคำพิพากษาไปประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 20 วรรค 2 ด้วย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment